ไคเซ็น คือ กลยุทธ์การบริหารงานแบบญี่ปุ่น (Kaizen) แปลว่า การปรับปรุง (Improvement) โดย เป็นกิจกรรมที่ปรับปรุงการทำงานทั้งกระบวนการอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับพนักงานทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานปฏิบัติงาน
ซึ่งเป็นการปรับปรุงทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และ มีประสิทธิผลที่เพิ่มมากขึ้น
กลยุทธ์หลัก Kaizen
- 3-Mu’s หมายถึง ระบบตรวจสอบซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางช่วยผู้บริหารและพนักงานช่วยกันแก้ไขปรับปรุงงานของตนเองอยู่เสมอ โดยประกอบด้วย Muda คือความสูญเปล่า, Muri คือความตึง และ Mura คือความแตกต่างขัดแย้งกัน
- 5ส ได้แก่ สะสาง (Seiri), สะดวก (Seiton), สะอาด (Seiso), สุขลักษณะ (Seiketsu), และ สร้างวินัย (Shitsuke)
- Root Cause Analysis คือ หลักการ 5 W 1H โดยประกอบด้วย Who ใครเป็นผู้ทำ, what ทำอะไร, Where ทำที่ไหน, When ทำเมื่อไร, Why ทำไมต้องทำย่างนั้น, และ How ทำอย่างไร
ระบบสำคัญของ Kaizen
- การควบคุมคุณภาพและการบริหารคุณภาพทั้งระบบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมกระบวนการคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตจนกระทั่งผลิตสำเร็จ มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลทุกระดับและหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน
- ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just in Time Production system, (JIT)) เป็นกระบวนการเพื่อการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าทันในเวลาที่กำหนด โดยมีการออกแบบรองรับการผลิตที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการต่าง ๆขึ้นได้
- การบำรุงรักษาทวีผล (Total Productive Maintenance, (TPM)) เป็นการกำหนดเป้าหมายให้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบโดยรวมอย่างต่อเนื่อง
แนวทางและขั้นตอนในการปรับปรุงแบบไคเซ็น
วิธีการเชิงระบบ (System approach ) หรือ การสร้างคุณภาพงานของเดมมิ่ง ที่เรียกว่า PDCA ( Plan – Do – Cheek – Action ) ประกอบด้วย
- การให้พนักงานมีส่วนร่วม (Get Employees Involved)
- ค้นหาปัญหา (Find Problem)
- ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา (Create Solution)
- ทดสอบวิธีการแก้ปัญหา (Test Solution)
- วิเคราะห์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (Analyze the Result)
- สร้างมาตรฐาน (Standardize)
- ตรวจดูผล และผลกระทบต่าง ๆ และการรักษาสภาพที่แก้ไขแล้วโดยการกำหนดมาตรฐานการทำงาน (Repeat)
ประโยชน์ของ Kaizen คือ
- เพิ่มผลผลิตของการทำงาน
- ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ / การบริการให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น
- ลดของเสียที่ได้จากการผลิตให้น้อยที่สุด
- ประหยัดเวลาและลดขั้นตอนในการจัดการ
- ลดต้นทุนของการทำงาน
- ปรับปรุงความปลอดภัยให้เพิ่มมากขึ้น
- เพิ่มผลกำไรให้กับบริษัท
- เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าที่ใช้บริการ